เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 3.มหาโพธิชาดก (528)
[169] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[170] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[171] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข1
[172] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลดิบ คนนั้นจะไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[173] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจะไม่ทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[174] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลสุก คนนั้นจึงจะรู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย

เชิงอรรถ :
1 องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/70/115-116, ขุ.ชา. (แปล) 27/133-136/184

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :32 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 3.มหาโพธิชาดก (528)
[175] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองแคว้นโดยธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจึงจะทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย
[176] ส่วนขัตติยราชพระองค์ใด
ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงเป็นผู้คลาดจากโอสถ1ทั้งปวง
[177] ขัตติยราชพระองค์ใดทรงเบียดเบียนชาวนิคม
ผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและราชพลี2
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาด
จากพระคลังสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน
[178] พระราชาพระองค์ใดทรงเบียดเบียน
นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารเป็นอย่างดี 1
ทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม 1 มหาอำมาตย์ผู้เลื่องลือ 1
พระราชาพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากกำลังพล
[179] พระราชาผู้เป็นกษัตริย์พระองค์ใดผู้ไม่ประพฤติธรรม
ทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษีผู้มีความสำรวม ประพฤติพรหมจรรย์
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากสวรรค์เช่นนั้นเหมือนกัน
[180] อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงประหารพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย
ย่อมทรงประสบฐานะอันหยาบช้า
และคลาดจากพระโอรสทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 โอสถ หมายถึงรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เป็นต้น ที่เป็นยา รวมถึงเนยใส เนยข้น
ที่เป็นยาด้วย (ขุ.ชา.อ. 8/176/73)
2 โอชะและราชพลี หมายถึงรสที่ได้จากสิ่งของต่าง ๆ ที่ชาวชนบทถวายพร้อมทั้งการเสียภาษีอากรด้วย
(ขุ.ชา.อ. 8/177/73)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :33 }